นักเรียนนายร้อยตำรวจ -- ฝึกงานที่บ้านพักฉุกเฉิน

 

       โรงเรียนนายร้อยตำรวจ(Royal Police Cadet Academy : RPCA) สถาบันอุดมศึกษา ในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการให้การฝึก ศึกษา อบรมและหล่อหลอมนักเรียนนายร้อยตำรวจและหลักสูตรนักเรียนอบรมชั้นสัญญาบัตรอื่นๆ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งได้มีการบรรจุหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจสัมผัสปัญหาชุมชน สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อสร้างจิตสำนึกในการแก้ปัญหาของชุมชนให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจ
- เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาชุมชนซึ่งนับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเข้าไปสัมผัสปัญหาด้วยตนเอง
- เพื่อให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้เรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์จริง
- เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในอนาคต
- เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและตำรวจ
- เพื่อแนะนำและให้ความรู้แก่ชุมชนในการป้องกันภัยยาเสพติด การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและการพิทักษ์สิทธิเด็ก และสตรี

       สมาคมสงเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งที่ทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ส่งนักเรียนนายร้อยมาฝึกงานตามหลักสูตรดังกล่าวระหว่างวันที่ 1-15 กันยายน 2554 จำนวน 5 คน คือ นรต.หญิงขวัญแก้ว มาลัย นรต.หญิงฉันทนา สมบัติทิพย์ นรต.หญิงชไมพร สุภาคม นรต.สุขสันต์ สืบสหการ และนรต.วสุพล บุญประดิษฐ์ โดยในวันที่ 1 กันยายน 2554 นั้นเป็นการปฐมนิเทศที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเริ่มลงสัมผัสพื้นที่จริงในวันที่ 2 – 15 กันยายน 2554

จากการพูดคุยกับน้องๆทั้ง 4 คน (นรต.วสุพล บุญประดิษฐ์ ติดภาระกิจจึงไม่สามารถมาร่วมในวงเสวนาย่อมๆของเราได้) น้องๆเล่าว่า

       “พวกเราเป็นรุ่นที่ 15 แล้ว ที่โรงเรียนนายร้อยได้ส่งลงมาสัมผัสกับผู้ประสบปัญหา ตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยสัมผัสชุมชน เนื่องจากตอนที่เราเรียนก็ได้เรียนรู้แต่ทฤษฎีมีแต่เรื่องเชิงนามธรรม ซึ่งพอมาตรงนี้แล้วทำให้มองเห็นอะไรเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นคนที่ประสบปัญหาคนที่ด้อยโอกาสจริงๆ เห็นขั้นตอนการทำงานจริงๆ ซึ่งก็ช่วยพวกเราได้มากเพราะพวกเราต้องออกไปปฎิบัติงานด้านนี้ ต้องไปเป็นพนักงานสอบสวน”

เมื่อถามถึงภาพแรกที่น้องๆนึกถึงบ้านพักฉุกเฉินก่อนจะได้ลงพื้นที่จริงเป็นอย่างไร แทบทุกคนต่างตอบคล้ายกันว่า

       “นึกภาพไม่ออกเลยคิดว่าเป็นแค่ที่พักเท่านั้น...แต่พอมาจริงๆแบบมันครบวงจรมากไม่ต้องมีอะไรติดตัวมาก็อยู่ได้เลย พร้อมมากๆ”


นรต.หญิง ขวัญแก้ว มาลัย นรต.หญิงฉันทนา สมบัติทิพย์ และนรต.หญิงชไมพร สุภาคม ได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้ทำ และความประทับใจ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ได้มาฝึกงานที่บ้านพักฉุกเฉินว่า
       “ก็ได้ติดตามพี่นักสังคมฯพาcaseคนท้องไปสถานีตำรวจเรื่องคดีถูกข่มขืน พาcaseไปโรงพยาบาล และอีกหลายๆอย่าง...สิ่งที่ประทับใจ จะเป็นการได้เรียนรู้หลายๆอย่าง รู้ต้นตอของปัญหา มากกว่าที่จะมองว่า เด็กคนนี้ทำผิดข้อหาอะไรตามมุมมองนักกฏหมายซะมากกว่า แต่พอมาตรงนี้ได้มองไปถึงเหตุ ถึงที่มาของปัญหา รวมทั้งเข้าใจทุกฝ่ายมากขึ้นทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำผู้หญิงและเด็ก...ฝ่ายพนักงานสอบสวนซึ่งในตอนนี้ที่เรามาฝึกงานเรามีบทบาทที่เป็นผู้ไปรับบริการที่สถานีตำรวจ แต่หลังจากนี้เมื่อจบไปพวกเราต้องไปอยู่ในบทบาทของผู้ให้บริการคือตำรวจที่รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนนั่นเองและที่ประทับใจมากอีกสิ่งหนึ่งคือพี่เลี้ยงเด็ก คนดูแลซึ่งเข้าใจน้องๆ เข้าถึงปัญหาของน้องๆได้ดีมากๆ”.

ส่วน.นรต.สุขสันต์ สืบสหการ ซึ่งดูจะตกเป็นจำเลยเพราะเป็นผู้ชายเพียงคนเดียวในวงสนทนาของเราได้กล่าวเสริมว่า
       “สำหรับผมก็ได้พาผู้หญิงไปสถานีตำรวจ พาcaseไปโรงพยาบาล ได้เลี้ยงเด็กทารก ได้รู้ที่มาของปัญหา เหมือนจากที่ดูส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาครอบครัว สามีติดยา เมาเหล้า ไม่มีสติ ทำร้ายภรรยา ทำให้สอนว่าสมัยนี้ไว้ใจใครได้ยาก และก็รู้สึกประทับใจในสิ่งที่เราได้เข้าไปทำไปสัมผัสทำให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้นเช่นในกรณีที่ไปสถานีตำรวจก็ได้เห็นว่าเรื่องของทุกคนต่างก็ด่วน…ก็เห็นใจ”

ว่าที่นายร้อยตำรวจ และว่าที่นายร้อยตำรวจหญิง ในอนาคตได้สะท้อนมุมมองของกระบวนการยุติธรรมกับคดีผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะด้านคดีความรุนแรงทางเพศ และการถูกทำร้ายร่างกายว่า
       “ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นเราเองเป็นพียงต้นทาง พอนำคดีขึ้นสู่ศาลจะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนเองก็ได้ทำหน้าที่แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนเองก็มีความลำบากใจ และในกระบวนการพิจารณาคดีเราก็ต้องมองและให้ความยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ถูกกระทำและฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาจึงอาจใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยส่วนตัวแล้วก็เข้าใจว่าในบางคดีก็มีความอ่อนไหวมีอะไรอยู่ค่อนข้างลึกยิ่งปล่อยเวลานานไปก็อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ ก็อยากให้ขั้นตอนมันเร็วขึ้นเหมือนกัน เพราะบางคดีก็ใช้เวลาที่ค่อนข้างนานมาก”

สุดท้ายฝากบอกกับพี่ๆที่บ้านพักฉุกเฉินว่า “ขอชื่นชมว่าเป็นองค์กรเอกชนที่เป็นระบบ มีการประสานงานที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กร เจ้าหน้าที่ใจเกินร้อยจริงๆ”

บทสัมภาษณ์ และถ่ายภาพ โดย จิตรา นวลละออง